ทำไมกระดูกถึงบาง
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพในหลายมิติ รวมถึงสุขภาพของกระดูกด้วย งานวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าความเครียดเรื้อรังมีความเกี่ยวข้องกับการลดลงของมวลกระดูก และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่มวลกระดูกลดลงและโครงสร้างกระดูกเสื่อมสภาพ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุโรคนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แม้ว่าพันธุกรรม ฮอร์โมน และโภชนาการจะเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อความหนาแน่นของกระดูก แต่ในระยะหลัง นักวิทยาศาสตร์เริ่มให้ความสำคัญกับบทบาทของ “ความเครียดทางจิตใจ” ว่าอาจมีอิทธิพลต่อการสูญเสียมวลกระดูก
กลไกของความเครียดต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
1️⃣ ผลของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)
เมื่อร่างกายเกิดความเครียด จะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญ การอักเสบ และการตอบสนองต่อความเครียด อย่างไรก็ตาม คอร์ติซอลในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมีผลยับยั้งการสร้างกระดูก (osteoblast activity) และกระตุ้นการสลายกระดูก (osteoclast activity) (Manolagas, 2000)
2️⃣ การอักเสบระดับต่ำแบบเรื้อรัง (Chronic Low-grade Inflammation)
ความเครียดสามารถกระตุ้นการอักเสบในระดับเซลล์ โดยการเพิ่มสารไซโตไคน์ ซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ เช่น IL-6 และ TNF-alpha มีบทบาทในการเร่งการสลายกระดูก (Wright et al., 2014)
3️⃣ พฤติกรรมสุขภาพที่เปลี่ยนไป
ผู้มีความเครียดสูงมักมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารไม่สมดุล และไม่ออกกำลังกาย ซึ่งล้วนมีผลต่อการลดลงของมวลกระดูก (Compston et al., 2019)
4️⃣ ผลกระทบต่อฮอร์โมนอื่น ๆ
ความเครียดเรื้อรังอาจลดระดับของเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Seeman, 2001)
ความเครียดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการสูญเสียมวลกระดูกผ่านหลายกลไก การตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและการจัดการความเครียดจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคกระดูกพรุนอย่างยั่งยืน
บทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง
Pharmacist Nawaporn Sukdashosavang
B.Pharm, Mahidol University
เอกสารอ้างอิง
1.Compston, J. E., McClung, M. R., & Leslie, W. D. (2019). Osteoporosis. The Lancet, 393(10169), 364-376. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(18)32112-3
2.Manolagas, S. C. (2000). Corticosteroids and bone: mechanisms of osteoporosis. The Journal of Clinical Investigation, 106(3), 439-442. https://doi.org/10.1172/JCI10562
3.Seeman, E. (2001). Sexual dimorphism in skeletal size, density, and strength. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism, 86(10), 4576-4584. https://doi.org/10.1210/jcem.86.10.7921
4.Wright, L. E., Frye, J. B., Lukefahr, A. L., & Yawn, B. P. (2014). Chronic psychological stress suppresses bone formation via corticotropin-releasing hormone. Endocrinology, 155(7), 2400–2408. https://doi.org/10.1210/en.2014-1049
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง