ไม่กิน …ป้องกันกระดูกพรุน อาหารและพฤติกรรมบางอย่าง ลดการดูดซึมแคลเซียม และเพิ่มการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน ควรประกอบด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

และควรงดหรือลดการรับประทานอาหารบางชนิดให้น้อยลง ดังนี้

  1. ระวังไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะการกินโปรตีนมากเกินไปจะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ
    • ในคนทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
    • ในคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อต้องการโปรตีน 2-3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  2. ระวังไม่กินอาหารเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก เพราะเกลือโซเดียมที่มากเกินจะทำให้การดูดซึมของแคลเซียมจากลำไส้ลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้ และยังทำให้การสูญเสียแคลเซียมทางไตมากขึ้นด้วย (ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือเทียบกับน้ำปลาไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา)
  3. ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก เพราะในน้ำอัดลมมีส่วนผสมที่ชื่อ “กรดฟอสฟอริก” ที่ทำให้เกิดฟองฟู่ การดื่มน้ำอัดลมมากทำให้ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสเสียไป (มีฟอสฟอรัสมากขึ้น) ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูก เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต
  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม จำพวกเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์หรือกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากขึ้น
    (ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 3 ถ้วย หรือคาเฟอีนไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม )
  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลระหว่างค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด การสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด แคลเซียมจะเข้ามามีบทบาทในการสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่
    ดังนั้น บุหรี่ทุกๆ มวนจึงเป็นตัวที่ทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงต่ำกว่าปกติด้วย จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน
  6. ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาที่มีสารสตียรอยด์ ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ยาเหล่านี้เร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องกินเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

SWU Clinic Faculty Of Medicine
คลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เรียบเรียงบทความโดย ภก.วรเดช สุขเดโชสว่าง

References (เอกสารอ้างอิง)

  1. SWU Clinic Faculty Of Medicine คลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  2. คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. กรมอนามัย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!