พรมมิ อาหารบำรุงสมอง ฟื้นฟูความจำ

พรมมิ อาหารบำรุงสมอง ฟื้นฟูความจำ

พรมมิ หรือ ผักมิ มีกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศเนปาลและอินเดียตำราอายุรเวทของอินเดีย ใช้เป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง มา 3 พันกว่าปีแล้ว พรมมิ มีสารสำคัญ คือ steroidal saponins ได้แก่ bacoside A และ bacoside B ปัจจุบันมีการศึกษาทางคลินิก (Clinical trial) ของพรมมิ ในอาสาสมัครที่เป็นคน ซึ่งได้รับการยอมรับ

คุณประโยชน์ของพรมมิ

1.เพิ่มความจำและการเรียนรู้

สารสกัดจากพรมมิ เพิ่ม cholinergic neurons และลดการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) ในสมองส่วน hippocampus

cholinergic neurons คือ เซลล์ประสาทคอลิเนอร์จิก ทำหน้าที่สร้างและหลั่งสารสื่อประสาท แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่เกี่ยวข้องกับความจำ

เอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ทำลายสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine)

การศึกษาทางคลินิก

  • ในอาสาสมัครวัยทำงานอายุเฉลี่ย 40 ปี ให้รับประทานทานสารสกัดพรมมิ 150 mg วันละ 2 แคปซูล เป็นเวลา 90 วัน โดยใช้สารสกัดพรมมิมาตรฐาน (standardized) ให้มี bacosides A และ B รวมกันไม่น้อยกว่า 55% (คิดเป็น bacosides A และ B 165 mg/วัน)
  • วัดผลด้วยเครื่องมือ Cognitive Drug Research (CDR) computerized assessment system พบว่าความจำแบบ working memory (หรือความจำขณะทำงาน หมายถึงความจำซึ่งใช้ในการดึงข้อมูลมาใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่กำลังทำงาน เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลชั่วขณะ การจัดการกับข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้) มีประสิทธิภาพดี และการประมวลผลข้อมูลมีความผิดพลาดน้อยลง
  • ในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุ 55 ปี ขึ้นไป) ให้รับประทานสารสกัดพรมมิ 125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดพรมมิมาตรฐาน (standardized) ให้มี bacosides A และ B รวมกันไม่น้อยกว่า 55% (คิดเป็น bacosides A และ B 137.5 mg/วัน) พบว่าอาสาสมัครสามารถควบคุมความคิด และจิตใจได้ดีขึ้น ความจำตรรกะ (logical memory) และการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ (paired associated learning) ดีขึ้น แสดงว่าพรมมิสามารถช่วยฟื้นฟูการสูญเสียความจำที่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้นได้
  • ในอาสาสมัครเด็กวัยเรียน 6-8 ปี รับประทานพรมมิในรูปแบบไซรัป วันละ 3 ครั้ง (1 ช้อนชา ประกอบด้วยผงพรมมิ 350 มิลลิกรัม) แบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
  • ในเด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) อายุเฉลี่ย 8.3 ปี รับประทานสารสกัดพรมมิมาตรฐาน (ประกอบด้วย bacoside 20%) ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น โดยมีความจำตรรกะ การเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ และผลการทดสอบด้านการพูด และภาษา (sentence repetition test) ดีขึ้น

2.ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมของสมอง (neuroprotective function)

โดยการกำจัดอนุมูลอิสระ ควบคุม antioxidant enzymes เช่น SOD, catalase และเอนไซม์อื่นๆ เป็นผลให้เกิดการป้องกัน oxidative stress (ปฏิกิริยาออกซิเดชันในสมอง) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน ตามมา

เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มี activity ของอนุมูลอิสระ, oxidative stress, และสุขภาพของเซลล์ที่บกพร่อง มากเกินไป

3.คลายเครียด ลดความวิตกกังวล

ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนบ่งชี้ถึงความเครียด และยังเพิ่มการสร้าง และลดการสลายของสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า

ปริมาณที่แนะนำ/วัน :

ขนาดที่สามารถรับประทานได้ค่อนข้างกว้าง

มีการใช้ในหลายรูปแบบ เช่น

  • ผงพรมมิ ใช้ 5-10 กรัม/วัน แบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง
  • สารสกัดพรมมิขนาด 300-450มิลลิกรัม /วัน โดยต้องควบคุมปริมาณสารสำคัญ (standardized) ให้มี bacosides ตั้งแต่ 24% ขึ้นไป)

ขนาดสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ : Tolerable Upper Intake Level (UL) ไม่มีกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยมีการทดสอบความเป็นพิษในหนูทดลอง (30, 60, 300 และ 1,500 มก./กก.) ระยะเวลา 270 วัน พบว่าไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ

ผลข้างเคียง : ที่พบได้บ้าง คือ รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหารเช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ (จากการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร ของสารสกัดพรมมิ พบผลข้างเคียงเมื่อรับประทานปริมาณ 300 mg  และ 450 mg ) อาจเลี่ยงไปทานพรมมิ หลังอาหารเพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว

เรียบเรียงบทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง B.Pharm of Mahidol University เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

——————————————————————————————————————–

References (เอกสารอ้างอิง)

  1. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12093601/
  2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11498727/
  3. Stough C, Downey LA, Lloyd J, Silber B, Redman S, Hutchison C, et al. Examining the nootropic effects of a special extract of Bacopa monniera on human cognitive functioning: 90 day double-blind placebo-controlled randomized trial. Phytother Res 2008; 22(12): 1629-1634.
  4. Walker, Eric A., and Mark V. Pellegrini. “Bacopa Monnieri.” PubMed, StatPearls Publishing, 2023, www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK589635/.
  5. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(3):16-19.
  6. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(4):9-13.
  7. พรมมิ – ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี [อินเทอร์เน็ต] อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  8. (Phargarden.com)  เข้าถึงได้จาก: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=303.
  9. บทความวิชาการเพื่อการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์  เรื่องพรมมิ 

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!