สุขภาพดวงตา กับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยได้จริง? จำเป็นหรือไม่?

Eye health and dietary supplements

สุขภาพดวงตา กับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยได้จริง? จำเป็นหรือไม่?

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กับ อาหารเสริม มีความหมายที่แตกต่างกัน หลายคนมักใช้ 2 คำนี้ ปนกัน คิดว่าเป็นคำเดียวกัน

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 293 พ.ศ.2548 หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ อยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น สำหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ

อาหารเสริม หมายถึง อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก คนไข้ คนชรา ที่รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นอาหารที่ทำจากธัญพืช จากเนื้อสัตว์ จากผัก เป็นหลัก

ตามกฎหมายในประเทศไทย ถือว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นอาหาร ไม่ใช่ยา

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่บำบัดรักษาโรค

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพดวงตา มักมีส่วนผสมของลูทีน ซีแซนทีน 2 ชนิดนี้ เป็นสารแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ร่างกายคนเรา ไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการกินเข้าไป ลูทีน มักพบได้ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ร่วมกับซีแซนทีน แต่จะมีปริมาณของลูทีนสูงกว่าซีแซนทีน ลูทีน และ ซีแซนทีน มีประโยชน์กับดวงตามาก เพราะสารทั้ง2 ชนิดนี้ อยู่ในจุดรับภาพที่จอประสาทตาและเลนส์ตา ช่วยกรองแสงสีน้ำเงิน ที่มีอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่ทำลายเซลล์ตา ช่วยให้เซลล์แข็งแรง บำรุงระบบการไหลเวียนของผนังเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ช่วยลดอาการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณดวงตา เพิ่มสมรรถภาพในการมองเห็น ทั้งในที่มืดและกลางแจ้ง ช่วยชะลอความเสื่อมของตา ป้องกันโรคตาต่างๆ เช่น โรคต้อกระจก (cataracts) โรคจอประสาทตาเสื่อม

มีงานวิจัยเรื่องลูทีน และซีแซนทีน หลายฉบับ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการที่ร่างกายได้รับลูทีน และซีแซนทีนจากอาหารกับการเกิดสารสีในดวงตา และสารสีที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมและโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ รวมทั้งการป้องกันโรคที่เกิดกับตาอื่นๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น โรคต้อกระจก เป็นต้น

เกี่ยวกับเรื่องตา ก็มีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่สุด ที่สนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพดวงตา และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยหลายพันคน เป็นงานวิจัยที่จักษุแพทย์ทั่วโลกยอมรับ โดยชื่องานวิจัยว่า
Age-Related Eye Disease Study 2

งานวิจัย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1) ทดลองให้ผู้สูงอายุ ทาน Vitamin C (วิตามินซี) 500 mg , Vitamin E (วิตามินอี) 400 IU , Beta Carotene (เบต้าแคโรทีน) 50mg และZinc (แร่ธาตุสังกะสี) 80 mg โดยปริมาณวิตามินเหล่านี้ได้มาจากการประชุมกันของจักษุแพทย์กับเภสัชกรที่เชี่ยวชาญด้านสารอาหาร ให้ทานวิตามินสูตรผสมนี้ ต่อเนื่องกันทุกวัน เป็นเวลา 5 ปี พบว่า สูตรวิตามินผสม ได้ผลในการชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่กลับพบว่า Beta Carotene (เบต้าแคโรทีน) เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด

ปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า Beta Carotene (เบต้าแคโรทีน) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหิน ส่วนเบต้าแคโรทีนจากอาหาร ยังคงมีความปลอดภัย ไม่เพิ่มความเสี่ยง

การศึกษาวิจัยต่อส่วนที่ 2) มีการปรับสูตรวิตามินใหม่ จาก Age-Related Eye Disease Study เป็น Age-Related Eye Disease Study 2 โดยนำเบต้าแคโรทีนออก ลดปริมาณซิงค์ลง เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

สูตร Age-Related Eye Disease Study 2 คือ Vitamin C (วิตามินซี) 500 mg, Vitamin E (วิตามินอี) 400 IU, Lutein (ลูทีน) 10 mg, Zeaxanthin (ซีแซนทีน) 2 mg, Omega3 (โอเมก้า3) 100 mg , Zinc (แร่ธาตุสังกะสี) 25 mg, Copper (แร่ธาตุทองแดง)2 mg

ผลพบว่า การเพิ่มโอเมก้า-3 ไม่ได้ผล ในการชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่ให้ผลดีในเรื่องของตาแห้งมากกว่า สูตรวิตามินผสมนี้ ได้ผลในการชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่คนที่ยังไม่เป็นโรค ไม่ได้ผลในการป้องกัน

หากวิเคราะห์แล้ว ที่ไม่ได้ผลในการป้องกันโรคตา เพราะ ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่สำคัญต่อดวงตาอีกหลายชนิด การป้องกันการเกิดโรค ควรได้รับสารอาหารที่หลายชนิดมากกว่าในสูตรวิตามินผสมนี้ แต่งานวิจัยนี้ เป็นต้นแบบ และมีประโยชน์ในการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับดวงตาได้และก็ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของ ลูทีน ซีแซนทีน เช่น

  • ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ พบว่าลูทีนและซีแซนทีน ในดวงตา มีความเข้มข้นต่ำกว่ากลุ่มควบคุม
  • ความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ จะลดลงตามปริมาณลูทีน ซีแซนทีน ที่เพิ่มขึ้น
  • การมีปริมาณซีแซนทีนในพลาสมาต่ำกับการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ลูทีนและซีแซนทีน มีประโยชน์ต่อดวงตาจริง และเราควรทานเท่าไหร่ ? การทานจากอาหารเพียงพอหรือไม่?

ควรทาน ลูทีน 10 มิลลิกรัม/วัน และ ซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม / วัน ทั้งนี้ปริมาณที่แนะนำ เป็นขั้นพื้นฐานของการรักษาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพดวงตาอยู่ หรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพดวงตา (ใช้สายตาหน้าจอคอมฯ, ใช้มือถือ, ต้องเจอกับแสงแดด, ขาดการบริโภคผัก ไม้ ที่มีลูทีน ซีแซนทีน) ควรได้รับลูทีนและซีแซนทีน รวมกัน ตั้งแต่ 10 mg – 20 mg /วัน

ขนาดสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ หรือ Tolerable Upper Intake Level (UL) ไม่มีกำหนดไว้ เนื่องจาก เป็นสารอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มีการศึกษาพบว่าขนาดลูทีนที่มากกว่า 20 มก./วัน อาจทำให้ผิวออกเหลืองได้ แต่อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเมื่อหยุดทาน

เมื่อทราบแล้วว่า ควรได้รับลูทีน ซีแซนทีน เท่าไหร่ต่อวัน ? ต้องมาดูว่า อาหารที่เราทานนั้นมีลูทีน ซีแซนทีน เพียงพอหรือเปล่า?

โดยทั่วไป ลูทีนมักพบได้ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติอยู่ร่วมกับซีแซนทีน และผลการวิเคราะห์ปริมาณลูทีน ซีแซนทีนในผักและผลไม้ ที่คนไทยนิยมบริโภค ส่วนใหญ่จะแสดงปริมาณสารทั้งสองชนิดรวมกัน

 

ที่มา : ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

จากตาราง ผักใบเขียว มีปริมาณลูทีน ซีแซนทีนสูงมาก ก็คือ ปวยเล้ง ใบยอ ใบชะพลู ผักโขมเขียว แต่ผักเหล่านี้ มีปริมาณของออกซาเลตสูง ไม่ควรทานมาก เพราะลดการดูดซึมแคลเซียม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว โดยเฉพาะในคนที่ดื่มน้ำน้อย ไตทำงานบกพร่อง

ผักที่มีลูทีน ซีแซนทีน สูง รองลงมา คือ ตำลึง, ใบเหลียง, คะน้า จะมีลูทีน ซีแซนทีน ประมาณ 4,000 – 6,000 ไมโครกรัม /100 กรัม ร่างกายต้องการลูทีน ซีแซนทีน วันละ 10 มิลลิกรัม ดังนั้น ต้องทานคะน้า ให้ได้อย่างน้อย วันละ 216 กรัม ต้องทานตำลึง ให้ได้อย่างน้อย วันละ 154 กรัม ส่วนผักอื่นๆ ค่อนข้างมีลูทีน ซีแซนทีนน้อย ต้องทานเป็นกิโล/วัน ถึงจะเพียงพอ

จากผักไปแล้ว ลองมาดูผลไม้ที่คนไทยนิยมทานกันบ้าง ว่ามีปริมาณลูทีนและซีแซนทีนเท่าไหร่ ?

แสดงหน่วยเป็นไมโครกรัม/100กรัม เหมือนเดิม มะม่วง ไม่มีลูทีน ซีแซนทีนเลย มะละกอ ก็แทบไม่มีเลย แตงไทย กล้วย ขนุน ชมพู่เพชร และแตงโม เป็นผลไม้ที่มีลูทีน ซีแซนทีน ปริมาณสูง สูงสุดคือ แตงไทย มี 0.066 มิลลิกรัม/100 กรัม ต้องทานแตงไทยมากถึงวันละ 15 กิโลกรัม ถึงจะได้ลูทีน ซีแซนทีนเพียงพอ กล้วยหอม ที่ถูกจัดอันดับว่ามีลูทีนซีแซนทีน สูง แล้ว ถ้าเทียบปริมาณที่ควรทาน ก็ยังต้องทานกล้วยหอม วันละ 43 กิโลกรัม

ผลไม้ไทย มีปริมาณลูทีน ซีแซนทีนน้อย ผักใบเขียวมีมากกว่า แต่ผักใบเขียวบางชนิด แม้จะมีลูทีน ซีแซนซีนสูง แต่มีออกซาเลตสูง ไม่ควรทานมาก ผักที่ทานได้ดี ค่อนข้างมีจำกัด ไม่กี่ชนิด

บทสรุป คือ ในชีวิตประจำวันเราทำได้ยาก ที่จะได้รับลูทีน ซีแซนทีน จากอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ และร่างกายก็สร้างสาร 2 ชนิดนี้ เองไม่ได้ แต่ร่างกายก็ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะดวงตาของเรา

หลายคนอาจจะนึกถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขึ้นมา ว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ? ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับลูทีน ซีแซนทีน นั้น จะมีแบบสังเคราะห์ และแบบสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเราควรเลือกที่สกัดจากธรรมชาติ

ลูทีน ซีแซนทีน ที่ได้คุณภาพและประสิทธิภาพ ดูอย่างไร ?

  1. ได้จากธรรมชาติ ปัจจุบันนิยมสกัดลูทีนซีแซนทีน จากดอกดาวเรือง non-gmo
    การที่ เป็น non-gmo ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแพ้, ลดการปนเปื้อนสารพิษ และยังคงคุณค่าโภชนาการที่ดีอยู่
  2. การสกัดได้สารที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะไม่ใช้ตัวทำละลาย ประเภท class II
  3. ได้ Lutein Ester ซึ่งเป็นฟอร์มที่ ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีที่สุด
  4. มีปริมาณลูทีนและซีแซนทีน เพียงพอ คือ ลูทีน10 mg ซีแซนทีน2 mg ตามงานวิจัย Age-Related Eye Disease Study 2 ที่กล่าวไปข้างต้น
  5. มีมาตรฐานการผลิตสากลรับรอง

ลูทีน และซีแซนทีน ถือ เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อดวงตา แต่อย่าลืมว่า ยังมีสารอาหารอีกหลายชนิด ที่สำคัญต่อดวงตา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ เช่น ไลโคปีนจากมะเขืออทศ , สารสกัดจากบิลเบอร์รี่,แอสต้าแซนธิน, แร่ธาตุซิงค์ , แร่ธาตุคอปเปอร์, ส่วนเบต้าแคโรทีนควรทานที่มาจากอาหารไม่ใช่เบต้าแคโรทีนสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อที่จะไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด

สิ่งสำคัญที่ควรปฎิบัติ นอกเหนือจากการทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาแล้ว ควรลดการอยู่กับแสงจ้า, ลดเวลาการมองจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และ พักสายตาทุก 20 นาที ด้วย

บทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง B.Pharm of Mahidol University
เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

References (เอกสารอ้างอิง)
1. Age-Related Eye Disease Study 2
Research G. Lutein + zeaxanthin and omega-3 fatty acids for age-related macular degeneration:
the Age-Related Eye Disease Study 2 randomized clinical trial. JAMA. 2013;309(19):2005-15.

2. Zhao L, Sweet BV. Lutein and zeaxanthin for macular degeneration. Am J Health-Syst Pharm
2008;65:1232-8.

3. Mares-Perlman JA, Millen AE, Ficek TL, Hankinson SE. The body of evidence to support a protective
role for lutein and zeaxanthin in delaying chronic disease. Overview: J Nutr 2002;132:518S-524S.

4. Bone RA, Landrum JT, Mayne ST, Gomez CM, Tibor SE, Twaroska EE. Macular pigment in donor
eyes with and without AMD: a case-control study. Invest Ophthalmol Vis Sci 2001;42:235-40.

5. Gale CR1, Hall NF, Phillips DI, Martyn CN. Lutein and zeaxanthin status and risk of age related
macular degeneration. Invest Ophthalmol Vis Sci 2003;44:2461-5.

6. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ, 2563.

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

error: Content is protected !!