ใบบัวบก บำรุงสมอง ความจำ สร้างสมดุลของอารมณ์ ช่วยนอนหลับ ประโยชน์ที่มากกว่าแก้ช้ำใน

Centella asiatica benefits for brain and promotes better sleep

ใบบัวบก บำรุงสมอง

บัวบกเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Centella asiatica (Linn.) Urban

  • ชื่อสามัญ gotu kola
  • ชื่อภาษาอังกฤษ Asiatic Pennywort

พบมากในประเทศแถบยุโรปเรื่อยมา จนถึงแถบแอฟริกาใต้ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา สำหรับประเทศไทย พบบัวบกได้ทั่วไปในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วทุกภาคในประเทศ

เป็นผักพื้นบ้านและเป็นสมุนไพร อาหารไทย มีการนำใบบัวบกสดมารับประทานเป็นเครื่องเคียงหรือผักสดแกล้มอาหารหลายประเภท เช่น หมี่กรอบ ผัดไทย ลาบก้อย และน้ำพริก อาจใช้เป็นผักในยำต่าง ๆ หรือคั้นใบสดดื่มผสมกับ น้ำเชื่อม เป็นต้น

บัวบกมีประวัติการใช้ประโยชน์ในด้านยารักษาโรค มาเป็นระยะเวลามากกว่า 50 ปี ตำราการแพทย์แผนไทยและแผนอายุรเวท ใช้ส่วนใบและราก สามารถนํามารักษาอาการชํ้าใน บํารุงหัวใจ บํารุงตับ ไต และสมองบํารุงประสาทและความจำ ช่วยขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แผลเปื่อย แก้โรคเรื้อนโรคบิด ลดอาการปวดศีรษะและไข้

คุณประโยชน์ทางยาที่มีหลักฐานการวิจัยสนับสนุนของบัวบกได้รับการยอมรับและมีการบรรจุยาที่พัฒนาจากบัวบกในบัญชียาสมุนไพร ของบัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วยการศึกษาองค์ประกอบที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในบัวบกพบสารสำคัญกลุ่มไตรเทอร์ปินอยด์ ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycoside) ประกอบด้วยกรดเอเซียติก (Asiatic acid) สารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) กรดแมดิแคสซิค (Madecassic acid) หรือ สารแมดิแคสซอล (Madecassol)

การใช้ประโยชน์จากบัวบกทางด้านเภสัชกรรม

1.ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Anti-oxidation) ของสารอนุมูลอิสระ ทําให้ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ ซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น สมองเสื่อม, อัลไซเมอร์, พาร์กินสัน

2. เร่งการสร้างสารคอลลาเจน (Collagen synthesis enhancer) โดยคอลลาเจนจัดเป็นโปรตีนสำคัญของผิวหนัง และอยู่คู่กับโปรตีนที่สําคัญอีกชนิดหนึ่งคือ อิลาสติน (Elastin) คอลลาเจนมีหน้าที่เสมือนโครงสร้างของผิว และทําให้ผิวเต่งตึง อิลาสตินจะมีหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับผิวและทำให้ผิวที่เป็นโครงสร้างของผิวหนังไม่มีมีริ้วรอย ช่วยรักษาแผล รอยเหี่ยวย่น และลดการอักเสบ

สารสกัดจากใบบัวบกจึงถูกนํามาใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น มีรายงานจากนักวิทยาศาสตร ์ หลายท่าน ได้ศึกษาการนําสารสกัดจากใบบัวบกที่ชื่อ เอเชียติโคไซด์ มาทดสอบความสามารถในการรักษาแผลเมื่อทาภายนอก ที่ความเข้มข้นเพียง 0.2% สามารถให้ผลในการเร่งการสมานแผลหรือช่วยทําให้แผลหายเร็วขึ้น โดยผ่านกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเร่งให้เซลล์ มีการสร้างเส้นใยคอลลาเจน (Collagen synthesis) และเร่งการสร้างซ่อมแซมเส้นเลือดที่เสียหายไป (Angiogenesis) ให้กลับคืนมา

3. ชวยเพิ่มการไหลเวียนของเส้นเลือดฝอยและการแลกเปลี่ยนออกซิเจนต่อเนื้อเยื่อ ทําให้ลดความเสี่ยงของการบวม อักเสบในผู้สูงอายุที่มีแรงดันในเส้นเลือดดําสูงหรือลดอาการโรคเลือดคั่งที่ทําให้ขาบวมในผู้ที่เดินทางนานๆ ในรถหรือเครื่องบิน โดยมีคณะแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาได้ทําการทดลองใช้สารสกัดจากใบบัวบก (Titrated extract of Centella asiatica; TECA) ให้กับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องของระบบไหลเวียนเลือดที่มีต่อเท้าและขา(Lower Limb) จนเกิดภาวะเจ็บปวด จํานวน 94 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ให้ TECA ในปริมาณวันละ 120 มิลลิกรัม และ 60 มิลลิกรัมและกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ให้สารสกัดดังกล่าว (Control doubleblind)แต่ให้สารอื่นๆที่ไม่มีตัวยาแทน (Placebo) ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบก มีอาการเจ็บปวดเท้าและขาน้อยลง และมีอาการบวมลดลง อย่างมีนัยสําคัญ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดดังกล่าว มีอาการของโรครุนแรงขึ้น

ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมคนไทยจึงนิยมดื่มน้ำต้มจากใบบัวบก เพื่อแก้ปํญหา ฟกช้ำ ดำเขียว เนื่องจากปัญหาฟกช้ำ ดำเขียวนั้นเกิดจากเส้นเลือดแดงขนาดเล็กถูกทําลายจากการกระแทกทำให้เกิดการคั่งของเลือดและหากระบบไหลเวียนของเลือดบริเวณดังกล่าว ถูกปรับปรุง ก็จะทำให้ภาวะฟกช้ำ ดําเขียวหรือเจ็บปวดหายไป

นอกจากสรรพคุณจากตัวอย่างผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบว่าสารสกัดจากใบบัวบกสามารถให้สรรพคุณที่เกิดต่อเนื่องจากการปรับปรุงระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือดอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สามารถป้องกันภาวะความจําเสื่อม (โรคอัลไซเมอร์) ป้องกันภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง บํารุงสมอง ทําให้มีความคิดอ่านดีขึ้นได้

เสริมการทำงานของกาบา (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยรักษาสมดุลของจิตใจ ลดความกระวนกระวาย ช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายลง ทำให้สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น

Clinical Trials (การศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์) ของสารสกัดใบบัวบก

  • การศึกษา ในเด็กพิเศษ อายุ 7-18 ปี ได้รับแคปซูลบัวบกวันละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 3 เดือนและ 6 เดือน พบว่า มีความสามารถเรียนรู้ จดจำ ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
  • การศึกษาใน ผู้สูงอายุชายและหญิง 28 คน อายุเฉลี่ย 65 ปี ทานสารสกัดบัวบกวันละ 750 มิลลิกรัม ต่อเนื่อง 2 เดือนพบว่า ทักษะความจำเพื่อใช้ปฏิบัติงาน หรือ working memory การเรียนรู้ และอารมณ์ดีขึ้นกว่าเดิม
  • การศึกษาใน วัยกลางคน ชายและหญิง ที่มีสุขภาพดี 41 คน ทานสารสกัดบัวบกในปริมาณต่างๆ ตามน้ำหนักตัว การเรียนรู้และความจำดีขึ้น
  • การศึกษาในผู้สูงอายุ 60 คน อายุเฉลี่ย 65 ปี ที่มีปัญหาเรื่อง Mild Cognitive Impairment (MCI) ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย ให้ทานสกัดใบบัวบกครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ2 ครั้ง พบว่า อาการ MIC ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

* Mild Cognitive Impairment (MCI) คือ ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย เป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณเริ่มต้น ที่อยู่ระหว่างภาวะความสามารถของสมองถดถอยปกติตามวัย (normal aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (dementia)

ในภาวะ MCI การทำงานของสมองจะบกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน ดังนี้

  1. สมาธิจดจ่อน้อยลง
  2. ความไวในการใช้ความคิดลดลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึงการคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เป็นต้น
  3. ความจำเลวลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น เมื่อมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน วันต่อมาจำไม่ได้ว่ามีคนมาเยี่ยม หรือมีการพูดคุยกับใคร หรือพูดคุยเรื่องอะไรกัน เป็นต้น
  4. ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังไม่เข้าใจ เป็นต้น
  5. สูญเสียการจดจำทิศทาง ทำให้หลงทาง หรือสูญเสียทักษะในการทำงาน เช่น ไม่สามารถใช้เครื่องมือต่างๆที่เคยใช้ได้ เป็นต้น
  6. ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมาในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง หรือมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน

  • ใบสด 1 กำมือ (10-15 ใบ) /วัน โดยอาจต้มเป็นน้ำใบบัวบก แต่ควรระวังปริมาณน้ำตาล และเกลือที่ใส่ลงไป
  • ผงชง รับประทานครั้งละ 2 – 4 กรัม ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • แคปซูลผง รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • สารสกัดใบบัวบก ในรูปแบบแคปซูลที่มีการควบคุมปริมาณสารสำคัญ (Standardized Active Substance) ซึ่งรูปแบบนี้จะมีเข้มข้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาสารสกัดจากใบบัวให้อยู่ในรูปแบบไฟโตโซม (Phytosome) ทำให้สารสำคัญมีความคงตัว เพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) จึงรับประทานในปริมาณที่น้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพสูงกว่าสารสกัดใบบัวบกทั่วไป และช่วยป้องกันอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียง ที่เกิดจากการรับประทานใบบัวบกปริมาณมาก

ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง

ผู้แพ้พืชตระกูลใบบัวบก และหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานการรับประทานตามขนาดปกติ ไม่มีผลข้างเคียงแต่หากรับประทานในปริมาณมาก อาจทำให้ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และใบบัวบกเป็นยาเย็น ทำให้ธาตุเสียสมดุล

บทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง B.Pharm of Mahidol University
เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

References (เอกสารอ้างอิง)

1.Kappor, L.D. 2005. CRC Handbook of Ayurvedic

Medicinal Plants. CRC press LLC, Florida. pp.

208-209.

2. จันทรพร ทองเอกแก้ว, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2556.

บัวบก: สมุนไพรมากคุณประโยชน์ Centella asiatica (Linn.) Urban: A Very

Useful Herb (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก

บัวบก: สมุนไพรมากคุณประโยชน Centella asiatica (Linn.) Urban https://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2014031915393365.pdf

3. Appa Rao MVR, Srinivasan K, Koteswara Rao T. The effect of Centella asiatica on the general mental ability of mentally retarded children. Indian Journal of Psychiatry. 1977;19(4):54–59. [Google Scholar]

4. Wattanathorn J, Mator L, Muchimapura S, et al. Positive modulation of cognition and mood in the healthy elderly volunteer following the administration of Centella asiatica . Journal of Ethnopharmacology. 2008;116(2):325–332. [PubMed] [Google Scholar]

5. Dev RDO, Mohamed S, Hambali Z, Samah BA. Comparison on cognitive effects of Centella asiatica in healthy middle age female and male volunteers. European Journal of Scientific Research. 2009;31(4):553–565. [Google Scholar]

6. Tiwari S, Singh S, Patwardhan K, Gehlot S, Gambhir IS. Effect of Centella asiatica on mild cognitive impairment (MCI) and other common age-related clinical problems. Digest Journal of Nanomaterials and Biostructures. 2008;3:215–220. [Google Scholar]

7. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31135

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!