Astaxanthin สารต้านอนุมูลอิสระยอดฮิต ประโยชน์ด้านใดที่มี Clinical trials ยืนยันประสิทธิภาพ

คุณสมบัติของ Astaxanthin คุณภาพสูง

แอสตาแซนธิน (astaxanthin)

แอสตาแซนธิน (astaxanthin) เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) มีลักษณะเด่น คือ ทำให้เกิดสีแดง ส่วนมากพบตามสิ่งมีชีวิตในทะเล พบว่า astaxanthin มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง (potent antioxidant effect) โดยมีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอี 500 เท่า, สูงกว่าวิตามินซี 6,000 เท่า และสูงกว่าCoQ10 800 เท่า และยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบ (anti-inflammatory effect)

ทำให้นำมาสู่การศึกษาทั้งในสัตว์และมนุษย์ ของการออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกายอย่างกว้างขวางมีการนำมาใช้ในด้านเภสัชโภชนศาสตร์และเวชสำอาง ทางด้านการแพทย์ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ เป็นสารอาหารบำรุงสายตา หัวใจ รักษาอาการอักเสบ เสริมสร้างภมูิคุ้มกันโรค ตลอดจนลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง แต่ทั้งนี้บางประโยชน์ควรมีการศึกษาวิจัยทางคลินิก (Clinical trials) เพิ่มเติม

** Clinical trials คือ การศึกษาวิจัยทางคลินิก ที่ทดลองทางการแพทย์ในอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์เพื่อค้นหาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัดและยา

ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์แอสตาแซนธินได้เอง ต้องได้รับจากแหล่งอาหารเท่าน้ัน อาหารตามธรรมชาติที่พบแอสตาแซนธิน ได้แก่ กล้ามเนื้อและไข่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ปลาแซลมอน,ปลาเทาน์,เคย,ไข่ปลาคาเวียร์,กุ้ง, ปู,ลอปสเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบสารแอสต้าแซนธินเข้มข้นในสาหร่ายสี แดง (Microalgae Haematococcus pluvialis) ในปัจจุบัน astaxanthin สามารถสกัดได้จากธรรมชาติ(Natural astaxanthin) และสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic astaxanthin)

แอสตาแซนธินในทางการค้า ส่วนใหญ่มาจากการสังเคราะห์ ซึ่งราคาถูกกว่า และไม่เปิดเผยรายละเอียดของกระบวนการสังเคราะห์เนื่องจากเป็นสิทธิบัตรของแต่ละบริษัท ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบผลการใช้ในมนุษย์ ของทั้ง 2 แบบ งานวิจัยส่วนใหญ่ทำการศึกษา astaxanthin ที่ได้จากสาหร่ายสีแดง H.pluvialis Astaxanthin

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDI) ยังไม่มีกำหนดไว้ เนื่องจากอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปมีการใช้ตั้งแต่ 2 มิลลิกรัม – 12 มิลลิกรัม/วัน

(จากรายงานวิจัยที่ขนาด 12 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษ ไม่พบความแตกต่างของ ค่าทางห้องปฏิบัติการ เมื่อเทียบกับยาหลอก )

* ค่าห้องปฏิบัติการ หมายถึงผลการทดสอบต่างๆ ที่ทำกับตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเหลวในร่างกายอื่นๆ เพื่อประเมินสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น Complete Blood Count (CBC), การวัดระดับอิเล็กโทรไลต์ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม ตลอดจนการทำงานของไตและระดับน้ำตาล, การทดสอบการทำงานของตับและระดับโปรตีน,วัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด วัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด, วัดความเร็วของการแข็งตัวของเลือด ,การวิเคราะห์ปัสสาวะ European Food Safety Authority (EFSA) แนะนำการใช้ astaxanthin 4 มิลลิกรัม/วัน

astaxanthin ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และได้รับรางวัล GRAS (Generally recognized as safe) จากประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นสารที่มีความปลอดภัยสูงในการใช้ ข้อมูลการศึกษา astaxanthin พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งเมื่อทดสอบในสัตว์ทดลองก็พบประโยชน์จากการใช้เช่นกัน

สำหรับการศึกษาในมนุษย์ หรือการศึกษาวิจัยทางคลินิก (Clinical trial)  พบประโยชน์จริง ในเรื่อง

  1. ต้านริ้วรอยตื้นขึ้น ผิวมีความยืดหยุ่นขึ้น  :
    ช่วยให้ collagen fiber กลับคืนสู่สภาพ ลดการอักเสบที่ epidermis
  2. ช่วยให้ออกกำลังกายทนขึ้น :
    ส่งเสริมกระบวนการเมแทบอลิซึมของกล้ามเนื้อ เพิ่มการแพร่ของ lactic acid  ลดภาวะกล้ามเนื้อล้า
  3. บำรุงสายตา : การมองเห็นระยะไกลดีขึ้น ระยะพักหลังจากการใช้สายตาสั้นลง ลดอาการตาพร่า ตาล้า ระคายเคือง

แต่ความสามารถในการลดระดับน้ำตาล ระดับความดันโลหิต ระดับไขมัน ยังไม่มีความแตกต่าง
ยกตัวอย่างการศึกษาวิจัยทางคลินิก (Clinical trial) astaxanthin ต่อการดูแลสุขภาพดวงตาทดลองให้ astaxanthin 0 มก., 2 มก.,4 มก. และ 12 มก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า การมองเห็นระยะไกลดีขึ้น ระยะพักหลังการใช้สายตาสั้นลง ในกลุ่มที่ได้รับ 4มก.และ 12 มก./วัน

ผลข้างเคียง

หากบริโภคปริมาณมาก เกินวันละ 48 มิลลิกรัม/วัน อาจทำให้ขับถ่ายบ่อยขึ้น อุจจาระมีสีแดง อาจทำให้ระดับแคลเซียมและความดันโลหิตลดต่ำลง

คุณสมบัติของ Astaxanthin คุณภาพสูง

  • Natural Astaxanthin (สกัดจากธรรมชาติ) นิยมสกัดจากสาหร่ายสีแดง Haematococcus pluvialis เพราะมีการศึกษาวิจัยทางคลินิก
  • ได้ Astaxantin ที่มีความบริสุทธิ์ เข้มข้น
  • ใช้วิธีการสกัดคุณภาพสูง Supercritical CO2 Extraction หรือ Solvent-free Extraction

เรียบเรียงบทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง B.Pharm of Mahidol University
เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

References (เอกสารอ้างอิง)

1.Nishida Y,Yamashita E, Miki W. Quenchig activities of common hydrophilic and lipophilic antioxidants against singlet oxygen using chemiluminescence detection system. Carotenoid Science 2007;11:16-20

2.Guerin M, Huntley ME, Olaizola M. Haematococcus astaxanthin: applications for human health and nutrition. Trends Biotechnol [Internet]. 2003 May .
Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/12727382

3. European Food Safety Authority (EFSA)
Scientific opinion on the safety of astaxanthin-rich ingredients (AstaREAL A1010 and AstaREAL L10) as novel food ingredients. EFSA 2014;12:3757.

4.หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม.
บทบาทและการออกฤทธิ์ของ astaxanthin ในทางคลินิก.
Available from: http://www.wongkarnpat.com

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!