Bilberry (บิลเบอร์รี่) มีประโยชน์ต่อดวงตา อย่างไร ? ขนาดที่ควรบริโภค?

สารสกัด Bilberry (บิลเบอร์รี่)

Bilberry (บิลเบอร์รี่)

บิลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่หลายคนรู้จัก พบมากในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ชอบขึ้นตามป่า เขา และทุ่งโล่งแถบยุโรป เช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน อิตาลี ผลบิลเบอร์รี่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีปริมาณ Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) สูง ซึ่งอยู่ในรูป Anthocyanosides (แอนโทไซยาโนไซด์) Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) จัดเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีสีม่วง น้ำเงินเข้ม มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น หรือที่เราเรียกคุ้นหูว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง

ประวัติการใช้ประโยชน์

มีการใช้ประโยชน์จากผลและใบของบิลเบอร์รี่ มาตั้งแต่ ศตวรรษที่16 เพื่อช่วยป้องกันหรือบำบัดโรคหรืออาการผิดปกติของร่างกาย ได้แก่นิ่วในไต, ภาวะผิดปกติของถุงน้ำดี, เลือดออกตามไรฟัน การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไอ วัณโรคปอด ต่อมา มีการใช้บิลเบอร์รี่ในรูปแบบสารสกัดจากผลบิลเบอร์รี่ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) สูง พบว่าสามารถป้องกันหรือบำบัดอาการผิดปกติของดวงตา หลอดเลือด และเบาหวาน ปัจจุบันนิยมการใช้ผลบิลเบอร์รี่ที่เตรียมเป็นสารสกัดน้ำ โดยควบคุมมาตรฐานให้มีปริมาณแอนโทไซยาโนไซด์ ร้อยละ 25

ประโยชน์ต่อดวงตาในทางคลินิก

บิลเบอร์รี่ มีสารแอนโทไซยาโนไซด์ ซึ่งสามารถทำให้ออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงดวงตาเพิ่มขึ้น และสามารถจับกับอนุมูลอิสระที่จะทำลายคอลลาเจน ทำให้คอลลาเจนคงตัว และคอลลาเจนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผนังหลอดเลือดฝอยดวงตาแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องรงควัตถุของจอตา ทำให้สามารถรับภาพและปรับภาพได้ดี ทั้งในที่สว่างและที่มืด การใช้สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ ซึ่งมีปริมาณของแอนโทไซยาโนไซด์สูง สามารถป้องกันและชะลอการเกิดต้อหิน ซึ่งเป็นโรคตาที่มักพบในอายุมากกว่า 40 ปี

สารสกัดของผลบิลเบอร์รี่ ที่มีแอนโทไซยานินสูง (สารสกัดมาตรฐานมีปริมาณแอนโทไซยาโนไซด์ร้อยละ 25) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเซลล์ โดยทดสอบกับเซลล์เยื่อบุตา (retinal pigment epithilial cell) พบว่าแอนโทไซยานินและสารอื่นจากบิลเบอร์รี่กระตุ้นสัญญาณผ่านยีนส์ที่ควบคุมหรือมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น จึงป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น จากเซลล์เยื่อบุจอตา

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน

สารสกัดน้ำของบิลเบอร์รี่มาตรฐานซึ่งมีแอนโทไซยาโนไซด์ร้อยละ 25 ใช้ขนาด 80 -160 มิลลิกรัมวันละ 1- 3 ครั้ง

อาการข้างเคียง

  • การใช้ในขนาดที่กำหนด ไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
  • ทานท้องว่างหรือพร้อมอาหารได้

References (เอกสารอ้างอิง)

1. อโนชา อุทัยพัฒน์.(2551).บิลเบอร์รี่.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่26(1). หน้า 1-11.
2. https://www.drugs.com/npp/bilberry.html

เรียบเรียงบทความโดย ภก.วรเดช สุขเดโชสว่าง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!